HOME / Article / ฤๅษีดัดตน : สุขอนามัยไทย สุขอนามัยโลก

ฤๅษีดัดตน : สุขอนามัยไทย สุขอนามัยโลก


24881 VIEW | 7 ธ.ค. 61
วัดพระเชตุพน


ฤๅษีดัดตน : สุขอนามัยไทย สุขอนามัยโลก 
โดย..ก่องแก้ว วีระประจักษ
ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาโบราณ ข้าราชการบำ นาญ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

    ฤๅษีดัดตนเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจและรู้จักกันเป็นอย่างดีของ ชาวไทยและชาวต่างประเทศอย่างกว้างขวาง เนื่องจากเป็นวิชาการด้าน การรักษาสุขอนามัย ด้วยการแสดงท่าเคลื่อนไหวร่างกายในอิริยาบถที่ส่ง ผลให้ร่างกายบรรเทาจากอาการโรคต่างๆ

    วิชาการฤๅษีดัดตนนี้ ปรากฏหลักฐานเป็นครั้งแรกในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ แห่ง พระบรมราชจักรีวงศ์ (พ.ศ.๒๓๒๕-๒๓๕๒) เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดโพธิ์ นับแต่เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๑ ใช้เวลาทั้งสิ้น ๗ ปี ๕ เดือน ๒๘ วัน จึงแล้วเสร็จ พระราชทานนามว่า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาศ (ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ ทรงแปลงสร้อยนามวัดเป็น วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม) และโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระอารามหลวง ประจำ รัชกาล ในการนี้ มีพระราชดำ ริโปรดเกล้าฯ ให้จารึกเรื่องทรงสร้าง วัดพระเชตุพน ครั้งรัชกาลที่ ๑ เป็นหลักฐานไว้ พร้อมทั้งโปรดให้รวบรวม ตำ รายา และปั้นรูปฤๅษีแสดงท่าดัดตน (ปัจจุบันไม่ปรากฏหลักฐานแล้ว) เพื่อให้ราษฎรศึกษาเล่าเรียน และใช้รักษาโรค

    ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ (พ.ศ. ๒๓๖๗ - ๒๓๙๔) วัดโพธิ์ชำ รุดทรุดโทรมมาก จึงทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งพระอาราม เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๕ ในการนี้ โปรดให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นณรงค์หริรักษ์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๑ (พระนามเดิม พระองค์เจ้าดวงจักร) ซึ่งทรงกำกับกรมช่างหล่อ เป็นแม่กองเกณฑ์ช่างหล่อรูปฤๅษี ด้วยสังกะสีผสมดีบุกแล้วเคลือบ (เรียกว่า ชิน) เป็นฤๅษีแสดงท่าดัดตนต่างๆ จำ นวน ๘๐ ท่า แต่เป็นฤๅษี ๘๒ ตน เพราะมี ๒ ท่า ที่หล่อเป็นฤๅษี ๒ ตน ช่วยกันดัดกาย เมื่อแล้วเสร็จนำ ไป ประดิษฐานตามศาลารายรอบพระอาราม ซึ่งศาลารายแต่ละหลังก่อแท่น ขึ้นที่เฉลียงด้านใน เพื่อตั้งรูปฤๅษีหลังละ ๔ - ๕ ตน พร้อมทั้งโปรดให้จารึก โคลงภาพฤๅษีดัดตนประดับไว้ตามผนังศาลารายด้วย โคลงแต่ละบทนั้น ระบุชื่อฤๅษีดัดตน ท่าดัดตนและคุณประโยชน์ต่างๆ ของท่าดัดตนทุกท่า เพื่อเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจแก่ราษฎรผู้ใฝ่รู้ในด้านสุขอนามัย นับเป็น พระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นแก่ปวงชนชาวไทย นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวยังได้ทรงพระราชนิพนธ์โคลงภาพฤๅษีดัดตน ร่วมกับพระบรมวงศานุวงศ์ เสนาบดี พระภิกษุ และนักปราชญ์ราชบัณฑิต นับเป็นงานวรรณกรรมที่มีคุณค่าทางด้านอักษรศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง ที่สำคัญ ยังโปรดให้คัดโคลงเหล่านั้นลงในหนังสือสมุดไทย พร้อมกับเขียนรูปฤๅษี แสดงท่าดัดตนเป็นแบบแผนไว้ ดังปรากฏโคลงบานแพนก ความตอนหนึ่งว่า

๏ ลุจุลศักราชพ้น     พันมี เศศเฮย
ร้อยกับเก้าสิบแปดปี  วอกตั้ง
นักษัตรอัษฐศกรวี     วารกติก มาศแฮ
ศุกปักษย์ห้าคํ่าครั้ง   เมื่อไท้บรรหารฯ

๏ ให้พระประยุรราชผู้  เป็นกรม หมื่นแฮ
ณรงค์หริรักษ์รดม      ช่างใช้
สังกสีดิบุกผสม        หล่อรูป
นักสิทธิ์แปดสิบให้    เทอดถ้าดัดตน ฯ

๏ เสรจ์เขียนเคลือบภาคย์พื้น ผิวกาย
ตั้งทุกศาลาราย                รอบล้อม
อาวาสเชตวันถวาย            นามทั่ว องค์เอย
จาฤกแผ่นผาพร้อม           โรคแก้หลายกลฯ

   ปัจจุบันยังมีต้นฉบับหนังสือสมุดไทยเก็บรักษาอยู่ที่กลุ่มหนังสือ ตัวเขียนและจารึก สำ นักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ทั้งนี้ เอกสารต้นฉบับ เป็นเส้นสีและดินสอขาว มีภาพประกอบ ปรากฏหลักฐานที่บานแพนก ระบุชื่อช่างเขียนว่า ขุนรจนามาศ (ช่างเขียนซ้าย) และหมื่นชำ นาญรจนา (ช่างเขียนขวา) และโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์ชื่อ ขุนวิสุทธิอักษร คัดโคลง กำ กับไว้เขียนเป็นเส้นรง แล้วเสร็จเมื่อวันแรม ๑๑ คํ่า เดือน ๗ ปีจอ สัมฤทธิศก จ.ศ.๑๒๐๐ ตรงกับวันจันทร์ที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ.๒๓๘๑

กล่าวได้ว่าในสมัยโบราณ ฤๅษีมีความสำ คัญในฐานะที่เป็นครู ผู้สั่งสอนสรรพวิทยาการต่างๆ รวมทั้งยังเป็นแพทย์ที่ให้ความรู้ด้านอนามัย ด้วย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ มีพระวินิจฉัยเกี่ยวกับเรื่องฤๅษีในหนังสือ สาส์นสมเด็จ เล่ม ๒๑ ความตอนหนึ่งว่า

...แต่ถ้าถึงเรื่องหมอๆ เข้าแล้วจะต้องเป็นฤษี จนทำ ให้ สดุดใจต้องไปพลิกพจนานุกรมสังสกฤตสอบได้ความในนั้น ครูหมอเรียกว่า “ไวทยนาถ” คือองค์พระศิวะนั่นเอง… นอกจากนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำ รงราชานุภาพ ทรงอธิบายถึงฤๅษีว่าเป็นผู้บำ เพ็ญตบะ คือเว้นจากการพูดและนั่งนิ่ง ภาวนาอย่างเดียวตั้งแต่เช้าจนคํ่า จึงเป็นมูลเหตุที่ทำ ให้ฤๅษีต้องดัดตน ปรากฏหลักฐานจากหนังสือ สาส์นสมเด็จ เล่ม ๒๑ ความตอนหนึ่งว่า เค้ามูลของฤๅษีดัดตนคือ ลักษณะบำ เพ็ญตะบะนั้น คงจะสมาทาน - นั่ง หรือ ยืน - ภาวนาอยู่วันยังคํ่า การนั่ง หรือยืนอยู่อย่างเดียวตลอดวัน ย่อมปวดเมื่อยตัวเป็น ธรรมดา เพราะฉะนั้น จึงเกิดมีวิธีดัดตนแก้อาการต่างๆ อันเกิดทุพลภาพแต่บำ เพ็ญตะบะ และดัดตนในเวลาคํ่า บำ เพ็ญตะบะในเวลากลางวัน สลับกัน... เป็นตำรามาแต่เดิม


ปัจจุบันรูปฤๅษีดัดตนส่วนหนึ่งชำ รุดสูญหายไปตามกาลเวลา ยังคง เหลือรูปฤๅษีดัดตนประมาณ ๒๐ ตน เท่านั้น และได้ย้ายไปประดิษฐาน อยู่ที่เขามอที่ก่อขึ้นเรียงรายตามรอบชาลา อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่อนุชน รุ่นหลังควรตระหนักคือ ภูมิปัญญาของบรรพชนไทยที่มุ่งหมายให้ความรู้ และประโยชน์ต่อส่วนรวมในด้านสุขภาพอนามัย ซึ่งเป็นวิธีการบำ บัดโรค อย่างหนึ่งที่มีผลทำ ให้ร่างกายแข็งแรง ไม่เจ็บป่วย จนเป็นที่ประจักษ์ใน สังคมโลกปัจจุบัน พระราชดำริเกี่ยวกับฤๅษีดัดตน จึงนับเป็น “โอสถทาน” ที่มีคุณประโยชน์ทั้งต่อชาวไทยและชาวต่างประเทศ สมดังพระราชประสงค์ ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยแท้

๏ เป็นประโยชน์นรชาติสิ้น สบสถาน
เฉกเช่นโอสถทาน          ท่านให้
พูนเพิ่มพุทธสมภาร         สมโพธิ์ พระนา
ประกาศพระเกียรติยศไว้    ตราบฟ้าดินศูนย์ ฯ


"ยอมรับคุกกี้" เพื่อให้เว็บไซต์นำเสนอประสบการณ์ที่ดีขึ้นสำหรับคุณ

เว็บไซต์วัดโพธิ์ได้จัดทำนโยบายคุ้มครองความเป็นส่วนตัวฉบับนี้ขึ้นเพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการทุกท่าน ( Personal information ) ที่ติดต่อเข้ามายังเว็บไซด์วัดโพธิ์ อ่านเพิ่มเติม