กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของราชอาณาจักรไทยที่มีความหมายเป็นนครแห่งทวยเทพ มีหัวใจอยู่ที่กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน อันเป็นพื้นที่แรกสร้างพระนคร นับเป็นพื้นที่ที่สั่งสมมรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทยไว้ให้เราชนรุ่นหลังได้เห็นได้เรียนรู้ได้รับรู้บังเกิดความภาคภูมิใจและนำความรู้ทั้งหลายทั้งปวงมาปฏิบัติตาม ประกอบอาชีพกันด้วยสัมมาอาชีวะจนถึงทุกวันนี้ วัดโพธ์ิ หรือนามทางราชการว่า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก และเป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๑แห่งราชวงศ์จักรี เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาวัดโพธารามวัดเก่าที่เมืองบางกอกครั้งกรุงศรีอยุธยา เป็นวัดหลวงข้างพระบรมมหาราชวัง และที่ฐานชุกชีประดิษฐานพระพุทธเทวปฏิมากร พระประธานในพระอุโบสถเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระองค์ท่านไว้ด้วย
พระอารามหลวงแห่งนี้ มีเนื้อที่ ๕๑ ไร่ ๒ งาน ๙๘ ตารางวาอยู่ด้านทิศใต้ของพระบรมมหาราชวัง ทิศเหนือจดถนนท้ายวัง ทิศตะวันออกจดถนนสนามไชย ทิศใต้จดถนนเศรษฐการ ทิศตะวันตกจดถนนมหาราช มีถนนเชตุพนขนาบด้วยกำแพงสูงสีขาวแบ่งเขตพุทธาวาสและสังฆาวาสชัดเจนมีหลักฐานปรากฏในศิลาจารึกไว้ว่า หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนาพระบรมมหาราชวังแล้วทรงพระราชดำริว่า มีวัดเก่าขนาบพระบรมมหาราชวัง ๒ วัด ด้านเหนือ คือวัดสลัก (วัดมหาธาตุ) ด้านใต้ คือ วัดโพธาราม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุนนางเจ้าทรงกรม ช่างสิบหมู่อำนวยการบูรณปฏิสังขรณ์ เริ่มเมื่อพ.ศ. ๒๓๓๑ เสด็จวัดโพธาราม มีสภาพทรุดโทรม ต่อมาปี พ.ศ. ๒๓๓ จึงโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระอุโบสถอันดับแรก ใช้เวลา ๗ ปี ๕ เดือน ๒๘ วัน จึงแล้วเสร็จ และโปรดเกล้าฯ ให้มีการฉลองเมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๔ พระราชทานนามใหม่ว่า“วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาศ” ต่อมารัชกาลที่ ๔ ได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยน ท้ายนามวัดเป็น “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม”
ครั้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้บูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่นานถึง ๑๖ ปี ๗ เดือน ขยายเขตพระอารามด้านเหนือและตะวันตกคือ ส่วนที่เป็นพระวิหารพระพุทธไสยาส สวนมิสกวัน สถาปนาขึ้นใหม่ เป็นโบราณสถานในพระอารามหลวงที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้ แม้การบูรณปฏิสังขรณ์ได้ดำเนินการตามลำดับจนถึง
ปัจจุบันทางวัดได้ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๐ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา เพื่อให้พระอารามแห่งนี้มีความสวยงามมั่นคงอยู่เสมอ
เกร็ดประวัติศาสตร์ของการสถาปนาและการบูรณปฏิสังขรณ์วัดโพธิ์แห่งนี้ บันทึกไว้ว่า รัชกาลที่ ๑ และที่ ๓ ขุนนางเจ้าทรงกรม ช่างสิบหมู่ได้ระดมช่างในราชสำนัก ช่างวังหลวง ช่างวังหน้า และช่างพระสงฆ์ที่อยู่ในวัดต่างๆ ผู้เชี่ยวชาญงานศิลปกรรมสาขาต่างๆ ได้ทุ่มเทผลงานสร้างสรรค์พุทธสถานและสรรพสิ่งที่ประดับอยู่ในพระอารามหลวงด้วยพลังศรัทธาตาม
พระราชประสงค์ของพระองค์ท่านที่ให้เป็นแหล่งรวมสรรพศิลป์ สรรพศาสตร์เปรียบเป็นมหาวิทยาลัยแห่งสรรพวิชาไทย (มหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรก) ที่รวมเอาภูมิปัญญาไทยไว้เป็นมรดกให้ลูกหลานไทยได้เรียนรู้กันอย่างไม่รู้จบสิ้น จักรพันธุ์ โปษยกฤต จิตรกรชื่อดังของไทย กล่าวไว้ในหนังสือ “โบสถ์วัดโพธิ์” เมื่อ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๔๒ ว่า “ศิลปศาสตร์ในวัดโพธิ์ จึงเสมือนโอฆะแห่งวิชา ที่สามารถตักตวงได้ยังประโยชน์แก่กุลบุตรกุลธิดาให้อุดมสมบูรณ์อลังการด้วยปัญญาอยู่มิรู้เหือดแห้ง”
วัดโพธิ์นับเป็นปูชนียสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ ที่นักท่องเที่ยวทุกคนมีเป้าหมายของการเดินทางไปชมคือ การชมพุทธศิลป์ที่งามวิจิตร ผสมผสานกับภูมิปัญญาไทยที่ยังเป็นอยู่ ยังสืบสานกันอยู่ เป็นความรู้เป็นอาชีพที่เป็นอมตะ เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา ๐๘.๐๐ - ๑๘.๓๐ น. สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศจะต้องซื้อบัตรเข้าชมคนละ ๑๐๐ บาท
๏ ศุภมัศดุพระพุทธศักราชล่วงแล้วสองพันสามร้อยสามสิบเบดพระวะษา ณ วันจันทร์เดือนสิบเบดแรมแปดค่ำปีระกานักสัตว์เอกศก สมเดจ์พระบรมธรรมมฤกมหาราชาธิราชพระเจ้ารามาธิบดี บรมนารถบรมบพิตรพระพุทธิเจ้าอยู่หัวผู้ผ่านพิภพไอศวรรยาธิปัดถวัลราช กรุงเทพทวาราวะดีศรีอยุทธยามหาดิหลกภพนพรัตนราชธานี บุรีรมย์อุดมพระราชมหาสถาน เสดจ์ทอดพระเนตร์เหนวัดโพธารามเก่าชำรุดปรักหักพังเปนอันมากทรงพระราชศัรทธาจะปติสังขรณ์ส้างให้บริบูรรณงามขึ้นกว่าเก่าซึ่งที่เปนลุ่มดอนห้วยคลองสระบ่อร่องคูอยู่นั้น ทรงพระกรุณาให้เอาคนสองหมื่นเศศฃนดินมาถมเตมแล้ว รุ่งขึ้นปีหนึ่งสองปีกลับยุบลุ่มไปจึงให้ซื้อมูลดินถมสิ้นพระราชทรัพย์ สองร้อยห้าชั่งสิบห้าตำลึงจึ่งให้ปราบที่พูนมูลดินเสมอดีแล้ว ครั้นณะวันพฤหัศบดีเดือนสิบสองแรมสิบเบดค่ำปีฉลูนักสัตว์เบญจะศก ให้จับการปัติสังขรณะส้างพระอุโบสถมีกำแพงแก้วกระเบื้องปรุะล้อมรอบพื้นในกำแพงแก้ว แลหว่างพระระเบียงชั้นในชั้นนอกก่ออิฐห้าชั้นแล้วดาดปูน กระทำพระระเบียงล้อมสองชั้นผนังพระระเบียงข้างในประดับกระเบื้องปรุะ ผนังหลังพระระเบียงเขียนเปนลายแย่งมุมพระระเบียงนั้นเปนจัตุระมุขทุกชั้นมีพระวิหารสี่ทิศบันดาหลังคาพระอุโบสถพระวิหารพระระเบียงนั้นมุงกระเบื้องเคลือบศรีเขียวเหลืองสิ้น ตรงพระวิหารทิศตวันตกออกไปให้ขุดรากพระเจดีย์ใหญ่กว้างสิบวาลึกห้าศอกตอกเขมเอาอิฐหักใส่กะทุ้งให้แน่นแล้วเอาไม้ตะเคียนยาวเก้าวา น่าศอกจัตุรัศเรียงระดับประกับกันเป็นตะรางสองชั้นแล้วจึงเอาเหล็กดอกเห็ดใหญ่ยาวสองศอกตรึงตะหลอดไม้แกงแนงทังสองชั้น หว่างช่องแกงแนงนั้นเอาอิฐหักทรายถมกะทุ้งให้แน่นดีแล้วรุ่งขึ้นณะวันศุกร์ เดือนสามขึ้นสิบค่ำปีฃาลฉ้อศกเพลาเช้าสมเดจ์พระเจ้าอยู่หัวเสดจ์พระราชดำเนิร พร้อมด้วยพระราชวงษานุวงษ์เสนาพฤฒามาตย์ราชปโรหิตโหราจารย์มายังที่ลานพระมหาเจดีย์ จึงให้ชักชะลอพระพุทธปติมากรศรีสรรเพชญ์อันชำรุดรับมาแต่กรุงเก่า เข้าวางบนรากได้ศุภฤกษประโคมฆ้องกลองแตรสังข์ดุริยางคดนตรีปี่พาทย์ เสดจ์ทรงวางอิฐทองอิฐนากอิฐเงินก่อราก ข้าทูลลอองทุลีพระบาททังปวงระดมกันก่อถาน กว้างแปดวาถึงที่บันจุจึงเชิญพระบรมธาตุ์แลฉลองพระเขี้ยวแก้วองค์หนึ่ง พระเขี้ยวทององค์หนึ่งพระเขี้ยวนากองค์หนึ่ง บันจุในห้องพระมหาเจดีย์ แล้วก่อสืบต่อไปจนสำเรจ์ยกยอดสูงแปดสิบสองศอกกระทำพระระเบียงล้อมสามด้าน ผนังนั้นเขียนนิยายรามเกรียรดิ์จึงถวายนามพระมหาเจดีย์ศรีสรรเพชญดาญาณ แลในวงพระระเบียงชั้นในมีพระมหาธาตุ์สี่ทิศนอกพระระเบียงชั้นนอก หว่างพระวิหารคตนั้น มีพระเจดีย์ถานเดียวห้าพระองค์สี่ทิศญี่สิบพระองค์ เข้ากันทังพระมหาเจดีย์ใหญ่พระมหาธาตุ์เปนญี่สิบห้าพระองค์บันจุพระบรมธาตุสิ้น แลมีพระวิหารคตสี่ทิศกำแพงแก้วคั่นประตูซุ้มประดับกระเบื้องเคลือบสองประตู มีรูปสัตว์ประตูละคู่ ทำหอไตรย์มุงกระเบื้องหุ้มดิบุก ฝาแลเสาปิดทองลายรดน้ำแลตู้รูปปราสาทใส่คำภีร์พระปะริยัติไตรย์ปิฎกทำการบุเรียนหอระฆัง พระวิหารน้อยซ้ายขวาสำหรับทายกไว้พระพุทธรูป ขุดสระน้ำปลูกพรรณไม้ทำศาลารายห้าห้องเจ็ดห้องเก้าห้องเปนสิบเจ็ดศาลา เขียนเรื่องพระชาฎกห้าร้อยห้าสิบพระชาติ์ทังตำรายาแลฤาษีดัดตนไว้เปนทานทำกำแพงแก้วล้อมรอบนอก มีประตูซุ้มประดับกระเบื้องถ้วยสี่ประตูมีรูปอสูรประจำประตูละคู่มีประตูซุ้มประดับกระเบื้องเคลือบเก้าประตู ทังประตูกำแพงคั่นสองเปนสิบเบ็ดประตูมีรูปสัตว์ประตูละคู่เปนรูปสัตว์ญี่สิบสองตัว แล้วทำตึกแลกุฎีสงฆ์หลังละสองห้องสามห้องสี่ห้องห้าห้องหกห้องเจ็ดห้อง ฝากะดานพื้นกะดานมุงกระเบื้องเปนกุฎีร้อยญี่สิบเก้าทำหอฉัน หอสวดมนต์ศาลาต้มกรักตากผ้า สระน้ำ ทำกำแพงล้อมกุฎีอีกวงหนึ่ง แลรีมฝั่งน้ำนั้นมีศาลาสามหน้าต้นตะพานพระสงฆ์สรงน้ำทำเวจกุฎีสี่หลังแลในพระอุโบสถพระวิหารพระระเบียงนั้นเชิญพระพุทธปติมากรอันหล่อด้วยทองเหลืองทองสำฤท ชำรุดปรักหักพังอยู่ณะเมืองพระพิศณุโลกเมืองสวรรคโลกเมืองศุกโขไทเมืองลพบุรี เมืองกรุงเก่าวัดศาลาสี่หน้าใหญ่น้อยพันสองร้อยสี่สิบแปดพระองค์ลงมา ให้ช่างหล่อต่อพระสอพระเศียรพระหัตถ์พระบาทแปลงพระภักตร์พระองค์ให้งามแล้ว พระพุทธรูปพระประธานวัดศาลาสี่หน้าน่าตักห้าศอกคืบสี่นิ้วเชิญมาบุณะปติสังขรณเสรจ์แล้ว ประดิษถานเปนพระประธานในพระอุโบสถบันจุพระบรมธาตุ์ถวายพระนามว่าพระพุทธเทวะปติมากร แลผนังอุโบสถเขียนเรื่องทศชาติ์ทระมานท้าวมหาชมภูแลเทพชุมนุมพระพุทธรูปยืนสูงญี่สิบศอก ทรงพระนามว่าพระโลกนาถสาศดาจารย์ปรักหักพังเชิญมาแต่วัดศรีสรรเพชญ์กรุงเก่า ปติสังขรณ์เสรจ์แล้วเชิญประดิษถานในพระวิหารทิศตะวันออกมุกหลัง บันจุพระบรมธาตุ์ด้วย ผนังเขียรพระโยคาวจรพิจาระณาอาศภสิบและอุประมาญาณสิบพระพุทธรูปวัดเขาอินเมืองสวรรคโลกหล่อด้วยนากน่าตักสามศอกคืบหาพระกรมิได้ เชิญลงมาบุณะปติสังขรณด้วยนากเสรจ์ แล้วประดิษถานไว้เปนพระประธานในพระวิหารทิศตวันออกบันจุพระบรมธาตุ์ ถวายพระนามว่าพระเจ้าตรัสในควงไม้พระมหาโพธิ์มีต้นพระมหาโพธิ์ด้วย แลผนังนั้นเขียนเรื่องมารพะจล พระพุทธรูปน่าตักสี่ศอกห้านิ้วเชิญมาแต่กรุงเก่าปติสังขรณ์เสรจ์แล้วประดิษถานไว้ในพระวิหารทิศไต้ ถวายพระนามว่าพระพุทธิเจ้าเทศนาพระธรรมจักรมีพระปัญจะวักคีทังห้านั่งฟังพระธรรมเทศนาด้วยแลผนังนั้นเขียนเรื่องเทศนาพระธรรมจักรแลเทศนาดาวดึงษ์พระพุทธรูปน่าตักสามศอกคืบสิบนิ้ว เชิญมาแต่ลพบูรีปติสังขรณ์เสรจ์แล้วประดิษถานไว้ในพระวิหารทิศตะวันตกบันจุพระบรมธาตุ์ถวายพระนามว่าพระนาคปรก มีพญานาคแผลงฤทธิ์เลิกพั้งพานมีต้นจิกด้วยแลผนังนั้นเขียนเรื่องพระเกษธาตุ์ พระพุทธรูปหล่อใหม่สูงแปดศอกคืบห้านิ้ว ประดิษฐานไว้ในพระวิหารทิศเหนือบันจุพระบรมธาตุ์ ถวายพระนามว่าพระป่าเลไลย มีช้างถวายคนทีน้ำมีวานรถวายรวงผึ้งแลผนังนั้นเขียนไตรย์ภูมมีเฃาพระสุเมรุราชแลเขาสัตตะพันท์ทวีปใหญ่ทังสี่แลเฃาพระหิมพานต์อะโนดาตสระแลปัญจะมหานัที พระพุทธรูปในพระอุโบสถอารามเก่าน่าตักสี่ศอกเชิญเข้าประดิษฐานไว้ เปนพระประธานในการบุเรียร แล้วจัดพระพุทธรูปใส่ในพระระเบียงชั้นในชั้นนอกแลพระวิหารคต เปนพระพุทธรูปมาแต่หัวเมือง ชำรุดปติสังขรณ์ขึ้นใหม่หกร้อยแปดสิบเก้าพระองค์พระพุทธรูปทำด้วยอิฐปูนสำหรับอารามชำรุดอยู่ร้อยแปดสิบสามพระองค์ เข้ากันเปนพระพุทธรูปแลพระอรหรรต์แปดร้อยเจดสิบสองพระองค์ลงรักปิดทองสำเรจ์ เหลือนั้นข้าทูลลอองทุลีพระบาทสัปรุษทายกรับไปบุณะไว้ในพระอารามอื่น แลการถาปะนาพระอารามเจ็ดปีห้าเดือนญี่สิบแปดวันจึงสำเรจ์ สิ้นพระราชทรัพย์แต่ที่จำได้คิดค่าดินถมอิฐปูนไม้ทรุงสักขอนสักไม้แก่นเหล็กกระเบื้องฟืนไม้จากทำโรงงานร่างร้านเรือนฃ้าพระเสากระดานกุฎีน้ำอ้อยน้ำมันยางชันดีบุก ทองเหลืองทองแดงศรีผึ้ง หล่อถ่านกระจกน้ำรักทองคำกระดาดชาดเสนเครื่องเขียนรงดินแดง พระราชทานช่างแลเลี้ยงพระสงฆ์เลี้ยงช่างแล้วช่วยคนชายสกันหกสิบหกคน สมโนครัวสองร้อยญี่สิบสี่คนเปนเงินเก้าสิบห้าชั่งสิบเบดตำลึงสักแขนขวาถวายเปนข้าพระขาดไว้ในพระอาราม ตั้งหลวงพิทักษ์ชินศรีเจ้ากรมขุนภักดีรศธรรม ปลัดกรมควบคุมข้าพระรักษาพระอารามเข้ากันสิ้นพระราชทรัพย์ส้างและช่วยคน เปนเงินสามพันเจ็ดร้อยแปดสิบห้าชั่งหกตำลึง แล้วทรงพระกรรุณาให้เอาแพรลายย้อมครั่งทรงพระพุทธรูปในพระวิหารทิศพระระเบียงพระ๒วิหารคตการบุเรียนพระมหาธาตุ์เจดีย์ใหญ่น้อย สิ้นแพรร้อยพับแต่พระพุทธเทวะปติมากรในพระอุโบสถทรงผ้าศรีทับทิมชั้นในตาดชั้นนอก ครั้นณะวันศุกร์เดือนห้าแรมสิบสองค่ำปีระกาตรีนิศกให้ตั้งการฉลองอาราธนา พระราชาคณะถานานุกรมอะธิการ อันดับฝ่ายคันธะธุระวิปัศนาธุระพันรูปพร้อมกันณะพระอุโบสถ เพลาบ่ายแล้วสี่โมงห้าบาตสมเดจ์พระบรมนารถบรมบพิตร์พระพุทธิเจ้าอยู่หัว เสดจ์พระราชดำเนิรพร้อมด้วยสมเดจ์พระอนุชาธิราชพระราชวงษานุวงษ์ เสนาพฤฒามาตย์ราชปโรหิตาจารย์มายังพระอุโบสถทรงสมาทานพระอุโบสถศีลแล้วหลั่งน้ำอุทิโสทกลงเหนือพระหัตถ์พระพุทธปติมากร ถวายพระอาราม ตามพระบาฬีแก่พระสงฆ์มีองค์พระพุทธปติมากรเปนประธานมีนามปรากฏ ชื่อวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาศมอบถวายพระวัณะรัตนพิพัฒญาณอดุล สุนธรวรนายกปิฎกะธรามหาคะนิศรบวร ทักขิณาคณะสังฆารามคามวาสีสถิตย์ในวัดพระเชตุพน แล้วถวายแก่พระพุทธปติมากร แพรยกไตรย์หนึ่งบาตร์เหล็กเครื่องอัฐะบริฃารพร้อมย่ามกำมะหยี่ เครื่องย่ามพร้อมพัชแพรร่มแพรเสื่ออ่อนโอเถาโอคณะกาน้ำช้อนมุกขวดแก้วใส่น้ำผึ้งน้ำมันพร้าวน้ำมันยา กลักใส่เทียนธูปสิ่งละร้อย ไม้เท้ารองเท้าสายสะเดียงพระสงฆ์พันหนึ่งก็ได้เหมือนกันทุกองค์ ครั้นจบพระบาฬีที่ทรงถวายพระสงฆ์รับสาธุพร้อมกันประโคมดุริยางค์ดนตรี แตรสังข์ฆ้องกลองสนั่นไปด้วยสรัทสำเนียงกึกก้องโกลาหลพระสงฆ์รับพระราชทานแล้วไปสรงน้ำครองไตรย์มาสวดพระพุทธมนต์เพลาเยนวันละพันรูปปรนิบัดิพระสงฆ์ฉันเช้าเพนสามวันพันรูปถวายกระจาดทุกองค์ ให้มีพระธรรมเทศนาบอกอานิสงษ์ทุกวันแล้วปรนิบัดิพระสงฆ์ซึ่งศรัทธาทำดอกไม้เพลิงบูชาพระรัตนไตรย์ฉันเช้าทั้งเจดวัน เปนพระสงฆ์หกร้อยญี่สิบสี่รูป ถวายผ้าสบงทุกองค์ถวายบาตร์เหล็กซึ่งพระสงฆ์ไม่มีครองแล้วถวายกระจาดเสื่อร่มรองเท้าธูปเทียนไม้เท้าด้วย แล้วให้ตั้งโรงฉ้อทานเลี้ยงสมณะชีพราหมณะ อนาประชาราษฎรทังปวงแลมีโฃนอุโมงโรงใหญ่ หุ่นละคอนมอญรำระบำมงครุ่มคุลาตีไม้ปรบไก่งิ้วจีนญวนหกขะเมนไต่ลวดลอดบ่วงรำแพนนอนหอกดาบโตฬ่อแก้วแลมวย เพลากลางคืนประดับไปด้วยประทีปแก้วระย้าแก้วโคมพวงโคมรายแลดอกไม้รุ่งสว่างไปทั้งพระอาราม แล้วให้มีหนังคืนละเก้าโรง มีดอกไม้เพลิงคืนละสองร้อยพุ่มระทาใหญ่แปดระทาพลุะประทัดพะเนียง ดอกไม้ม้าดอกไม้กะถางดอกไม้กลต่างต่างแลมังกรฬ่อแก้วญวนรำโคมเปนที่โสรมนัศบูชาโอฬาริกวิเศศ เปนพระราชทรัพย์ทิ้งทานต้นกรรมพฤกษ์ฉลากพิกัดค่าพระราชบุตรบุตรีพระภาคีไนยราชแลนางพระสนม ราชกุญชรอัศดรนาวาฉลากละห้าชั่งสี่ชั่งสองชั่งเป็นเงินสามร้อยสามสิบแปดชั่ง เงินใส่ผลมะนาวร้อยหกสิบแปดชั่งเข้ากันทิ้งทานห้าร้อยหกชั่งคิดทังเงินค่าผ้าทรงพระ ดอกไม้สดบูชา เลี้ยงพระสงฆ์กระจาดและโรงฉ้อทานเครื่องไทยทาน ทำเครื่องโขนโรงโขนเครื่องเล่นเบ็ดเสร็จ พระราชทานการมะโหระสพแลถวายระย้าแก้วโคมแก้วบูชาไว้ในพระอารามเปนเงินในการฉลองพันเก้าร้อยสามสิบชั่งสี่ตำลึงเข้ากันทั้งสร้างเปนพระราชทรัพย์ห้าพันแปดร้อยสิบเบดชั่ง ครั้นเสรจ์การฉลองพระอารามแล้วพายหลังทรงพระกรรุณาให้อัญเชิญพระพุทธปฏิมากรทังสอง ซึ่งสถิตย์ในพระวิหารฝ่ายทักขิณทิศแลทิศประจิมนั้นขึ้นไปประดิษถานไว้ ณพระวิหารวัดพระศรีรัตนมหาธาตุให้อัญเชิญพระพุทธปฏิมากรทังสองพระองค์ ซึ่งเชิญมาแต่เมืองศุกโขไทน่าตักห้าศอกคืบกับนิ้วหนึ่งเท่ากัน พระองค์หนึ่งทรงพระนามพระพุทธชินราชเข้าประดิษฐานไว้แทนที่ในพระวิหารฝ่ายทักขิณทิศ พระองค์หนึ่งทรงพระนามพระพุทธชินศรีเข้าประดิษถานไว้แทนที่ในพระวิหารฝ่ายปัจจิมทิศคงดังเก่าซึ่งทรงพระราชศรัทธาบำเพ็ญพระราชกุศลทั้งนี้ ใช่พระไทยจะปรารถนาสมบัติบรมจักรจุลจักรท้าวพญาสามลราช แลสมบัติอินท์พรหมหามิได้ ตั้งพระไทยหมายมั่น พระบรมโพธิญาณในอนาคตกาลจะรื้อสัตว์ให้พ้นจากสงสารทุกข์ แลการพระราชกุศล ทั้งนี้ ฃออุทิศให้แก่เทพยุเจ้าในอนันตะจักรวาฬแลเทพยุเจ้าในฉกามาพจรแลโสฬศมหาพรหม อากาศเทวดาพฤกษเทวดาภูมเทวดาอารักษเทวดาแลกษัตราธิราช พระราชวงษานุวงษ์เสนาพฤฒามาตย์ราชปโรหิตสมณชีพราหมณ์อนาประชาราษฎร ทั่วสกลราชอาณาจักรในมงคลทวีป จงอนุโมทนาเอาส่วนพระราชกุศลนี้ให้เป็นบุญลาภศิริสวัสดิทีฆายุศม