HOME / Book / ฉันท์วรรณพฤติและมาตราพฤติ

ฉันท์วรรณพฤติและมาตราพฤติ
พระนิพนธ์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชอตชิโนรส

 ฉันท์วรรณพฤติและฉันท์มาตราพฤตินี้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชโองการให้กรมหมื่นไกรสรวิชิตทรงอาราธนาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสทรงพระนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๕ โดยทรงแปลจากคัมภีร์วุตโตทัยซึ่งเป็นภาษาบาลี ฉันท์วรรณพฤติเป็นแบบฉันท์ที่กำหนดด้วยอักษร คือกำหนดเสียง ครุ ลหุ เป็นสำคัญ ฉันท์มาตราพฤติเป็นแบบฉันท์ที่กำหนดด้วยมาตรา คือวางจังหวะมาตราสั้นยาวของเสียงเป็นสำคัญ คัมภีร์วุตโตทัยระบุฉันท์วรรณพฤติ ๘๓ ชนิด มาตราพฤติ ๒๕ ชนิด รวม ๑๐๘ ชนิด แต่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสทรงแสดงแบบของฉันท์วรรณพฤติไว้ ๕๐ ชนิด มาตราพฤติ ๘ ชนิด เนื้อเรื่องในตัวอย่างการแต่งฉันท์นั้นทรงนำมาจากธรรมะทางพระพุทธศาสนา ในฉันท์วรรณพฤติเป็นอรรถธรรมสอนบุคคลทั่วไป เช่น อบายมุข ๖ กุศลกรรมบถ มงคลสูตร เป็นต้น ส่วนฉันท์มาตราพฤติเป็นราชธรรมคือธรรมะสำหรับกษัตริย์
 
 นอกจากจารึกแผ่นศิลาที่วัดพระเชตุพนแล้ว ยังมีเอกสารตัวเขียนเรื่องฉันท์วรรณพฤติและฉันท์มาตราพฤติอยู่ในหอสมุดแห่งชาติหลายสำรับ ในการพิมพ์ครั้งนี้ได้เลือกต้นฉบับฉันท์วรรณพฤติ สมุดไทยดำ เส้นหรดาล เลขที่ ๓๐๔ และ ๓๐๕ ฉันท์มาตราพฤติ สมุดไทยดำเส้นหรดาล เลขที่ ๒๙๕ ซึ่งสมบูรณ์ทั้งเนื้อหาและเส้นอักษรมาพิมพ์ไว้ด้วย ในการศึกษาฉันท์วรรณพฤติและมาตราพฤติที่อยู่ในจารึกเทียบกับฉบับพิมพ์และเอกสารตัวเขียนพบว่ามีสื่งที่ต่างกันหลายแห่ง โดยฉพาะข้อความที่เป็นอักษรขอมภาษาบาลี ซึ่งสมควรจะได้มีการชำระในเวลาต่อไป
 
 ฉันท์วรรณพฤติและมาตราพฤติเป็นแบบแผนสำหรับการแต่งฉันท์ที่ยึดถือเป็นตำราได้ที่พิเศษคือผู้ศึกษาจะได้รับความรู้ทั้งรูปแบบฉันท์และเนื้อหาทางธรรม เป็นประโยชน์ทั้งทางด้านภาษา วรรณคดีและพระพุทธศาสนา ต้องกันกับพระปรีชาสามารถทั้งทางคดีโลกและคดีธรรมของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสผู้ทรงนิพนธ์เป็นอย่างยิ่ง

.


"ยอมรับคุกกี้" เพื่อให้เว็บไซต์นำเสนอประสบการณ์ที่ดีขึ้นสำหรับคุณ

เว็บไซต์วัดโพธิ์ได้จัดทำนโยบายคุ้มครองความเป็นส่วนตัวฉบับนี้ขึ้นเพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการทุกท่าน ( Personal information ) ที่ติดต่อเข้ามายังเว็บไซด์วัดโพธิ์ อ่านเพิ่มเติม