กำแพงแก้วนั้นมิได้สร้างด้วยแก้ว เป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นเพื่อกำหนดเขตพัทธสีมาและกั้นพุทธสถานที่สำคัญโดยเฉพาะพระอุโบสถที่ถือว่ามีความสำคัญที่สุดของวัด
กำแพงแก้ว ล้อมลานพระอุโบสถ มีซุ้มประตู ๘ ซุ้มและพัทธสีมา ๘ ซุ้ม ทำแปลกจากเดิม กำแพงแก้วด้านนอกประดับศิลาลายฉลัก (สลัก) เป็นรูปภูเขา ต้นไม้ และรูปสัตว์ต่างๆ ซุ้มประตูทางเข้า ๘ ซุ้ม (ประตูทรงมงคล) สร้างด้วยหินแกรนิตแกะสลักมีรูปหล่อสางแปลงเนื้อสำริดประตูละหนึ่งคู่
พนักระหว่างเสาเฉลียงพระอุโบสถด้านนอกประดับศิลาจำหลักภาพเรื่องรามเกียรติ์ ๑๕๒ ภาพ มีโคลงจารึกบอกเนื้อเรื่องติดไว้ ภาพสลักศิลาเหล่านี้มาจากภาพหนังใหญ่ รัชกาลที่ ๓ มีพระราชปรารภว่า “หนังใหญ่เป็นการเล่มมหรสพของไทยมาแต่อยุธยาตอนต้นถึงสมัยรัตนโกสินทร์ การเล่นหนังใหญ่ต้องใช้ศิลปะชั้นสูงหลายด้าน เพราะเหตุนี้การเล่นหนังใหญ่จึงเป็นของเล่นให้ดีได้ยาก นับวันแต่จะเสื่อมโทรมลงไป เพื่อให้อนุชนได้ชมภาพตัวหนังดังกล่าว จึงให้เอาตัวหนังใหญ่มาแกะลงบนแผ่นศิลาให้เหมือนหนังฉลุทุกส่วนติดไว้ให้ชม ท่านจะเห็นฝีมือลวดลายจำหลักเหล่านี้ละเอียดประณีตวิจิตรงดงามยิ่งนัก”
มีผู้สนใจงานศิลปะมาขอลอกภาพกันมาก ภาพรามเกียรติ์เหล่านี้เคยเป็นสินค้าของที่ระลึกสัญลักษณ์ของวัดโพธิ์ ต่อมาแรงกดลอกลายภาพซ้ำๆนับแรมปีทำให้ลวดลายจางลง จึงมีประกาศห้ามลอกลายภาพกัน