HOME / Inscription

จารึกวัดโพธิ์



จารึกวัดโพธิ์

มรดกความทรงจำแห่งโลก

  เมื่อ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลก ได้จัดสัมมนาเครือข่ายระดับชาติด้านการอนุรักษ์และเผยแพร่มรดกภูมิปัญญาไทยครั้งที่ ๒ เรื่อง  “การเสนอจารึกวัดพระเชตุพนฯ เป็นมรดกความทรงจำ แห่งโลก”เพื่อนำประสบการณ์ที่ได้จากการสัมมนามาพิจารณาคุณสมบัติความหมายและคุณค่าความโดดเด่นของจารึกวัดโพธิ์ พบว่าจารึกวัดโพธิ์ถือเป็นมรดกภูมิปัญญาไทยที่มีความสำคัญเทียบเท่าระดับสากล มีความล้ำค่า ประวัติความเป็นมาและเนื้อหาในจารึกวัดโพธิ์บอกเล่าวิชาความรู้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นจารึกสรรพวิชาบนแผ่นศิลาเรื่องทรงสร้างวัดพระเชตุพน  ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ จารึกสุภาษิตพระร่วง รวมถึงรูปปูนปั้นฤๅษีดัดตน แสดงท่าทางการนวดแผนโบราณที่รัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๓ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดทำขึ้น และเมื่อ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑
  การประชุมคณะกรรมการแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกว่าด้วยแผนงานความทรงจำ แห่งโลกของยูเนสโก (UNESCO Memory of the World Regional Committee for Asia/Pacific-MOWCAP) ณ กรุงแคนเบอร์ร่า ประเทศออสเตรเลีย มีมติรับรองจารึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำของโลกในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตามที่ประเทศไทยโดยคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลกเสนอและต่อมาคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำโลกได้ดำเนินงานนำเสนอขึ้นทะเบียนจารึกวัดโพธิ์เป็นมรดกความทรงจำโลกในระดับนานาชาติโดยความร่วมมือจากระทรวงศึกษาธิการ สำนักหอสมุดแห่งชาติกรมศิลปากร จึงจัดทำแผนการอนุรักษ์จารึกวัดโพธิ์เพิ่มเติมและเสนอเป็นส่วนประกอบการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกระดับนานาชาติต่อองค์การยูเนสโกจากคุณสมบัติจารึกวัดโพธิ์ที่มีความโดดเด่นด้านรูปแบบการรวบรวมข้อมูลและนำเสนอต่อประชาชน มีความรู้หลากหลายสรรพวิชา เช่นพุทธศาสนา ประวัติศาสตร์ ภาษา วรรณกรรม ภูมิศาสตร์ วิทยาศาสตร์ การปกครองจารึกจำนวนมากเกี่ยวข้องกับการแพทย์ สุขภาพอนามัย รวมทั้งการนวดวัดโพธิ์ ซึ่งเป็นที่ยอมรับและปฏิบัติกันทั่วโลก มีจารึกเกี่ยวกับรามเกียรติ์ หรือ รามายณะ และเรื่องนิทานสิบสองเหลี่ยมหรือ ชาห์นามห์ วรรณกรรมคำสอนระดับโลก ความรู้ที่ปรากฏบนจารึกวัดโพธิ์คือองค์ความรู้ของโลกตะวันออกในเวลาที่มีภัยคุกคามจากโลกตะวันตก
  สถานที่แห่งนี้คืออารามหลวงที่กว้างขวางใหญ่โตที่สุดในประเทศไทย พรั่งพร้อมด้วยรูปแบบทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม มีนักท่องเที่ยวและพุทธศาสนิกชนจากทั่วโลกจำนวนมากมาเยี่ยมชมและกราบไหว้บูชา มีความหายากเป็นสิ่งเดียวในโลก มีความครบถ้วนสมบูรณ์ ฯลฯในที่สุดเมื่อ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๔ องค์การยูเนสโก ได้มีมติรับรองให้จารึกวัดโพธิ์ ขึ้นทะเบียนเป็น มรดกแห่งความทรงจำแห่งโลกในระดับนานาชาติ ในวาระการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษานานาชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลกของยูเนสโก ครั้งที่ ๑๐ (The Tenth Meeting of the International Advisory Committee for the Memory of the World Programme of UNESCO) ณ มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ เมือง แมนเชสเตอร์ สหราชอาณาจักร

             จารึกวัดโพธิ์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก จำนวน 1,440 แผ่น (ที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน) ส่วนใหญ่เป็นจารึกอักษรไทย ภาษาไทยส่วนอักษรขอม ภาษาบาลี  และภาษาไทยมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น คณะทำงานสำรวจและจัดทำทะเบียนจารึกวัดโพธิ์ ได้จำแนกออกเป็น ๖ หมวดดังนี้

   1.หมวดพระพุทธศาสนา จำนวน 310 แผ่น มี 12 เรื่อง ได้แก่ เรื่องมหาวงษ์ พระสาวกเอตทัคคะ พระสาวิกาเอตทัคคะ อุบาสกเอตทัคคะ อุบาสิกาเอตทัคคะ พาหิรนิทาน ทศชาติชาดก เวสสันดรชาดก อรรถกถาชาดก ญาณ 10 นิรยกถา และเปรตกถา
   2.หมวดเวชศาสตร์ จำนวน 608 แผ่น มี 9 เรื่อง ได้แก่ ตำรายา แผนเส้น แผนฝี แผนปลิง แม่ซื้อ ลำบองราหู โองการปัดพิษแสลง อาธิไท้โพธิบาท  และโคลงภาพฤาษีดัดตน
   3.หมวดวรรณคดี  และสุภาษิต จำนวน 341 แผ่น มี 11 เรื่อง ได้แก่ โคลงกลบท  โคลงภาพจำหลักเรื่องรามเกียรติ์ โคลงโลกนิติ เพลงยาวกลบท ตำราฉันท์มาตราพฤติ  ตำราฉันท์วรรณพฤติ ฉันท์พาลีสอนน้อง ฉันท์กฤษณาสอนน้อง  ฉันท์อัษฎาพานร สุภาษิตพระร่วง และนิทาน 12 เหลี่ยม
   4.หมวดทำเนียบ จำนวน 124 แผ่น มี 3 เรื่อง ได้แก่ ทำเนียบหัวเมืองและผู้ครองเมือง ทำเนียบสมณศักดิ์ และโคลงภาพคนต่างภาษา
   5.หมวดประวัติ จำนวน 21 แผ่น มี 2 เรื่อง ได้แก่ ประวัติการบูรณปฏิสังขรณ์แต่ละอาคาร และจารึกชื่อเฉพาะต่างๆ ได้แก่ วิหารทิศ พระมหาเจดีย์ และสถูป
   6.หมวดประเพณี จำนวน 36 แผ่น มี 1 เรื่อง ได้แก่ ริ้วกระบวนแห่พระกฐินทางสถลมารค

             กระบวนการสำรวจและจัดทำทะเบียนจารึกวัดโพธิ์ครั้งนี้ยังพบว่ามีต้นฉบับหนังสือไทยที่ร่างเตรียมไว้เพื่อที่จะจารึกลงบนแผ่นศิลาแต่งยังไม่ได้จารึกให้ปรากฏเป็นหลักฐาน เช่น " สำเนาจาฤกแผ่นศิลาว่าด้วยการปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน สำเนาพระราชดำริห์ว่าด้วยการทรงสร้างพระพุทธไสยาศนวัดพระเชตุพน และพระราชกฤษฎีการาชานุสาสน์ วัดพระเชตุพน "  เป็นต้น


"ยอมรับคุกกี้" เพื่อให้เว็บไซต์นำเสนอประสบการณ์ที่ดีขึ้นสำหรับคุณ

เว็บไซต์วัดโพธิ์ได้จัดทำนโยบายคุ้มครองความเป็นส่วนตัวฉบับนี้ขึ้นเพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการทุกท่าน ( Personal information ) ที่ติดต่อเข้ามายังเว็บไซด์วัดโพธิ์ อ่านเพิ่มเติม