HOME / Buddha / พระพุทธชินศรี

พระพุทธชินศรี



พระพุทธชินศรี

พระพุทธชินสีห์มุนีนาถ  อุรคอาสนบัลลังก์   อุทธังทิศนาคปรก   ดิลกภพบพิตร

         พระพุทธชินศรี หรือ พระนาคปรก พระประธานพระวิหารทิศตะวันตกมุขหน้า เดิมเป็นพระพุทธรูปขนาดหน้าตักสามศอกคืบสิบนิ้ว อัญเชิญมาจากเมืองลพบุรี ครั้นบูรณปฏิสังขรณ์แล้ว จึงประดิษฐานไว้เป็นพระประธานพระวิหารทิศตะวันตก และได้สร้างพญานาคแผลงฤทธิ์และต้นจิกไว้ด้านหลังพระประธานด้วย จึงเรียกว่า "พระนาคปรก" ดังปรากฏความใน "จารึกเรื่องทรงสร้างวัดพระเชตุพนครั้งรัชกาลที่ ๑ ว่า

           "...พระพุทธรูปน่าตักสามศอกคืบสิบนิ้ว เชิญมาแต่ลพบุรีปติสังขรณ์เสรจ์แล้ว ประดิษถานไว้ในพระวิหารทิศตะวันตกบันจุพระบรมธาตุ์ถวายพระนามว่าพระนาคปรก มีพญานาคแผลงฤทธิ์เลิกพั้งพานมีต้นจิกด้วยแลผนังนั้นเขียนเรื่องระเกษธาตุ์..."

        พระพุทธรูปประธานในวิหารทิศตะวันตกมีเจตนาให้เป็นพระพุทธรูปปางนาคปรกมาแต่ครั้งรัชกาลที่ ๑ พระองค์จึงถวายพระนามพระพุทธรูปว่าพระนาคปรก และทำพญานาคพร้อมด้วยต้นจิกประกอบ แม้ว่าต่อมาจะอัญเชิญพระพุทธชินศรีจากสุโขทัยมาประดิษฐานแทนพระพุทธรูปองค์เดิม แต่แนวคิดเรื่องการเป็นพระพุทธรูปนาคปรกก็มิได้สูญหายไป รัชกาลที่ ๔ จึงถวายพระนามใหม่ว่า พระพุทธชินศรีมุนีนารถ อุรุคอาศนบัลลังก์ อุทธังทิศภาคนาคปรก ดิลกบพิตร ซึ่งย่อมมีเจตนาให้มีความหมายถึงพุทธประวัติตอนนาคปรกนั่นเอง

        พระพุทธชินศรีอยู่ในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิราบ ลักษณะคือ พระชงฆ์ขวาวางอยู่เหนือพระชงฆ์ซ้าย ทำให้แลเห็นฝ่าพระบาทขวาเพียงข้างเดียว ในขณะที่ฝ่าพระบาทซ้ายอยู่ใต้พระชานุขวา พระหัตถ์ทำปางมารวิชัย ลักษณะคือ พระหัตถ์ขวาวางอยู่หน้าพระชงฆ์ขวา พระหัตถ์ซ้ายวางอยู่เหนือพระเพลา พระองค์ประทับอยู่บนขนดนาคซ้อนกัน ๔ ชั้น เบื้องหลังเป็นพังพานและเศียรนาค ๗ เศียร และมีต้นจิกอยู่ถัดออกไปทางเบื้องหลัง

     ตามปกติแล้วพระพุทธรูปปางนาคปรกนิยมทำพระหัตถ์ในท่าสมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองวางเหนือพระเพลาโดยพระหัตถ์ขวาวางบนพระหัตถ์ซ้าย แต่พระพุทธชินศรีกลับอยู่ในท่ามารวิชัย เป็นสิ่งที่อยู่นอกแบบแผนประเพณี ที่เป็นเช่นนี้อธิบายได้ว่าเพราะขนดนาคกับพระพุทธรูปมิได้สร้างขึ้นครั้งเดียวกัน โดยขนดนาคทำขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ ส่วนพระพุทธชินศรีสร้างขึ้นครั้งกรุงสุโขทัย ซึ่งเป็นยุคสมัยที่นิยมพระพุทธรูปปางมารวิชัยเป็นอย่างยิ่ง สร้างขึ้นโดยมิได้ตั้งใจให้เป็นพระพุทธรูปนาคปรกมาแต่แรก แต่ด้วยพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ ๑ ที่โปรดอัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้มาประดิษฐานไว้เหนือขนดนาค จึงทำให้เกิดเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยประทับอยู่บนขนดนาค

       สำหรับในส่วนของนาคยังมีข้อน่าสังเกตเพิ่มเติมอีก กล่าวคือ คัมภีร์พุทธศาสนาต่างพรรณนาเหตุการณ์นี้ว่าพญานาคมุจลินท์ขนดกายล้อมองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๗ รอบ และแผ่พังพานปกป้องพระเศียร แต่ขนดนาคที่ปรากฏร่วมกันกับพระพุทธชินศรีกลับทำในลักษณะของบัลลังก์ให้พระพุทธองค์ประทับ มิได้ล้อมรอบ และพังพานนาคก็มิได้ปกเหนือพระเศียรอย่างมิดชิด แต่เหมือนแผ่อยู่เบื้องหลังมากกว่า แม้ว่าจะไม่สอดคล้องกับคัมภีร์พุทธศาสนา แต่นาคในลักษณะเช่นนี้ก็นิยมทำกันมาเนิ่นนานแล้ว และสร้างพลังศรัทธาในองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่อผู้พบเห็นได้เป็นอย่างดี ประหนึ่งว่าแสดงอิทธิปาฏิหาริย์เหนือพญานาค แต่หากทำขนดนาคล้อมรอบ ๗ รอย และแผ่พังพานคุ้มกันอย่างมิดชิด อาจให้ความรู้สึกอึดอัดต่อผู้พบเห็น เพราะเสมือนว่าพระพุทธองค์กำลังถูกนาคทำร้าย

      พระพุทธชินศรีมีรูปแบบตามอย่างพระพุทธรูปสุโขทัยสอดคล้องกันกับประวัติที่ระบุว่าอัญเชิญมาจากเมืองสุโขทัย แต่ทั้งนี้ลักษณะบางประการโดยเฉพาะพระพักตร์ในสมัยรัชกาลที่ ๑ โปรดให้อัญเชิญมาจากเมืองสุโขทัย แต่ทั้งนี้ลักษณะบางประการโดยเฉพาะพระพักตร์ก็ดูละม้ายกับพระพุทธสมัยรัตนโกสินทร์อยู่บ้าง ชวนให้นึกถึงข้อมูลเอกสารที่ระบุว่าในสมัยรัชกาลที่ ๑ โปรดให้อัญเชิญพระพุทธรูปที่ชำรุดหักพังจากหัวเมืองต่างๆ คือ พิษณุโลก สวรรคโลก สุโขทัย ลพบุรี อยุธยา จำนวน ๑,๒๔๘ องค์ มาปฏิสังขรณ์ อาทิ ต่อพระศอ พระเศียร พระบาท พระหัตถ์ที่ชำรุดเสียหาย แปลงพระพักตร์ แปลงพระองค์ให้งดงาม อาจเป็นไปได้ว่าพระพุทธชินศรีก็เป็นหนึ่งในพระพุทธรูปที่อัญเชิญมาในครั้งนี้ด้วยไม่ชนะ"ที่อัญเชิญมาในครั้งนี้ด้วย


"ยอมรับคุกกี้" เพื่อให้เว็บไซต์นำเสนอประสบการณ์ที่ดีขึ้นสำหรับคุณ

เว็บไซต์วัดโพธิ์ได้จัดทำนโยบายคุ้มครองความเป็นส่วนตัวฉบับนี้ขึ้นเพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการทุกท่าน ( Personal information ) ที่ติดต่อเข้ามายังเว็บไซด์วัดโพธิ์ อ่านเพิ่มเติม